ข้อควรรู้ในการเริ่มต้นเลี้ยงเม่นแคระ
Admin(Main)
ข้อควรรู้ในการเริ่มต้นเลี้ยงเม่นแคระ
หมอกิ๊กก๊าก:สพ.ญ. สโรชา สุขรินทร์พรหม (คลินิกสัตว์บ้านหลังเล็ก หทัยราษฎร์ Baanlanglek Pet Clinic)
เม่นแคระ (Hedgehog) เป็นที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมาระยะเวลาหนึ่ง ในราคาที่ไม่แพงมาก ในคลินิกจึงพบว่าเจอเจ้าเม่นแคระน้อยค่อนข้างบ่อย แต่พอสอบถามการเลี้ยงกับคุณเจ้าของทั้งหลายกลับพบว่ายังมีหลายคนที่มีความเข้าใจผิดใน การเลี้ยงดังนั้นในหน้านี้ขอพูดถึงวิธีการเตรียมตัวที่จะเลี้ยงเม่นน้อยสักตัว คุณจะต้องทำอย่างไร
Step 1 : ศึกษาหาข้อมูลทำความรู้จัก
สายพันธุ์เม่นแคระที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราคือ African pygmy hedgehog (Atelerix albiventris) จัดในกลุ่มกินแมลง และอยู่ลำพังอย่าง มีอาณาเขต โดยพฤติกรรมแล้วเป็นสัตว์หากินกลางคืน ดังนั้นน้องเม่น อาจจะทำเสียงดังในช่วงที่เราหลับสักหน่อย ในธรรมชาติสามารถเดินทาง ได้ราวๆ 5-10กิโลเมตรในแต่ละคืน อุปนิสัยมีความอยากรู้อยากเห็น ชอบมุดและชอบปีนป่าย เมื่อมีการรบกวนจะม้วนตัวจนกลายเป็นก้อนหนาม ขนเม่นแคระสามารถหลุดได้ แต่ไม่มีการสลัดขนใส่ไม่ต้องกลัวไป มีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่เรียกว่า anointing หรือ anting โดยจะเอาของหรือกลิ่นแปลกๆเข้าปากจากนั้นจะบ้วนน้ำลายออกมาแปะไว้กับหนามที่หลัง (น้องไม่ได้น้ำลายฟูมปากนะ) โดยปกติมีอายุขัย 5-7 ปี แต่ถ้าเลี้ยงดีๆสัก หน่อย10ปี ก็เจอได้ กรณีเลี้ยงเป็นคู่ต้องระวังเรื่องทะเลาะกัน และควรจับแยก ตัวผู้-เมียตั้งแต่ 2เดือนขึ้นไป
Step 2 : อุปกรณ์สำหรับเลี้ยง
อุปกรณ์ควรจะเป็นกล่องที่มีฝาปิดและระบายอากาศได้ดี เพราะเจ้าตัว หนามน้อยนี่เป็นนักหลบหนีที่เก่งมาก และอุปกรณ์ใดๆไม่ควรมีซี่กรงซึ่ง อาจเป็นเหตุให้ขาหักได้ การเสริมสิ่งปูรอง(bedding)ที่นิยมคือขี้เลื่อย แต่ปัญหามักตามมาจากฝุ่นผง ในบางตัวอาจระคายเคืองทางเดินหายใจก็สามารถเปลี่ยนไปใช้สิ่งปูรองชนิดอื่น เช่น ซังข้าวโพด อย่าลืมตักสิ่งปูรอง ที่เปื้อนสิ่งขับถ่ายออกทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็น ในส่วนของของเล่น สามารถใส่ลู่วิ่ง เพื่อให้น้องได้วิ่งออกกำลังกาย
ไม่งั่นกินๆนอนๆจน กลายเป็นเม่นอ้วนไป ถึงจะน่ารักแต่ก็อันตรายต่อสุขภาพ (แหม ขนาดคนเรายังไม่อยากมีใครอ้วนเลยจริงมั้ย) ของเล่นง่ายๆเลยคือแกนกระดาษ ทิชชู่ และที่ขาดไม่ได้ก็คือบ้าน(shelter) จะเป็นแบบสำหรับให้นอน หลบ อย่างเดียวก็ได้ หรือจะออกแบบบ้านให้เป็นที่ปีนป่ายให้น้องเล่นก็ยังได้
Step 3 : การดูแล
อาหารที่ให้สามารถเลือกใช้อาหารเม็ดโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ที่ แนะนำ ได้แก่ อาหารแมว เม็ดขนาดเล็ก เสริมแมลง เช่น หนอนนก5-6 ตัวต่อวัน หรือ จิ้วหรีด1-2ตัวต่อวัน (ให้เยอะไปก็จะอ้วนได้นะ) นอกจากนี้ยังให้ผักหรือผลไม้รสหวานเพื่อเพิ่มกากใยและวิตามินได้ แม้บางตัวอาจจะไม่ชอบกินก็ตาม..
Step 4 : สภาพแวดล้อมโดยรอบ
สิ่งแวดล้อมควรแห้ง ความชื้นต่ำ และอบอุ่น ดังนั้นใครจะเลี้ยงน้อง ไว้ในห้องน้ำคิดให้ดีๆเพราะมีโอกาสทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตามมาอีก ในฤดูร้อนควรมีการระบายอากาศที่ดี สามารถสังเกตเม่นว่าร้อนได้ โดยน้องจะนอนแผ่พุง(ทำไก่ย่าง) แต่ถ้าฤดูหนาว น้องจะเริ่มทำการทำรัง ให้อบอุ่นโดยการคาบสิ่งปูรองเข้าไปในบ้านจนพูนหรือปิดบริเวณประตูบ้าน ในกรณีนี้ควรมีฮีทเตอร์ให้น้องด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะตัวเย็น (torpor) ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานๆมีโอกาสเสียชีวิตได้
Step 5 : ความสะอาด
เปลี่ยนสิ่งปูรองอาทิตย์ละ 1-2 ครั้งป้องกันพยาธิภายนอก หมั่นสำรวจเล็บเท้า ถ้ายาวก็ตัด หากจะอาบน้ำให้น้อง ให้ใช้น้ำอุ่นอาบเดือนละครั้ง สามารถใช้แชมพูสำหรับลูกสัตว์ผสมน้ำอาบได้และเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง ส่วนใครที่อยากให้น้องว่ายน้ำได้ ค่อยๆให้น้องเรียนรู้นะคะ ไม่ใช่เม่นทุกตัวจะว่ายน้ำได้ทันที การถูกน้ำจะเป็นการกระตุ้นการขับถ่าย ดังนั้นไม่ต้องกังวลถ้าระหว่างอาบน้ำน้องจะอึออกมาบ่อยกว่าปกติ ไม่เพียงแค่เม่นแคระเท่ำนั้น ไม่ว่าจะสัตว์ชนิดใดก็มีหลักการที่ คล้ายคลึงกัน นอกจากองค์ประกอบคร่าวๆที่กล่าวมาแล้ว ผู้เลี้ยงควรจะมีการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นให้ถี่ถ้วน ดูความสามารถในการเลี้ยงของตัวเอง เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่กับเราเพียงแค่เดือนสองเดือนแต่ อาจเป็น 5ปี 10ปี ในระยะเวลานี้เขายังต้องพึ่งพาเรา และเราต้องรับผิดชอบต่อเขา เพราะสัตว์เลี้ยงไม่ใช่ของเล่นที่ทิ้งขว้างได้